MBK Group

TH EN
ร่วมงานกับเรา  หน้าแรก

สารจากคณะกรรมการบริษัท

 

จากสัญญาณของการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ซึ่งกินเวลาต่อเนื่อง และยาวนานตั้งแต่ปี 2563 ถึงต้นปี 2565 ประกอบกับภาครัฐได้มีการผ่อนคลาย มาตรการควบคุม จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้มีการยกเลิกประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และมีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ผู้บริโภคกลับมามีความมั่นใจ ในการใช้จ่ายมากขึ้น และมีแนวโน้มที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถกลับมา ใกล้เคียงก่อนมีการแพร่ระบาดฯ ได้ แต่อย่างไรก็ดี จากภาวะเศษฐกิจในภาพรวม และของระดับโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ Technology Disruption รวมทั้งภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงยังคงทำให้ ผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย

แม้ว่าในช่วงต้นปี 2565 กลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ ระบาด COVID-19 และปัจจัยอื่นๆนั้น คณะกรรมการและฝ่ายจัดการได้มีการบริหารจัดการ และปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ ในช่วงวิกฤตกระแสการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มเริ่ม ดีขึ้น และกำลังซื้อที่เริ่มกลับเข้ามาเป็นระยะ ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในภาพรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 ดังนี้

รายได้จากการดำเนินงาน 9,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,245 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 และ ปี 2565 มีผลการดำเนินงานแสดงกำไรสุทธิ 332 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 804 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2564 ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ทำให้บางธุรกิจต้องปิดสถานประกอบการตามมาตรการในช่วงเวลาที่ภาครัฐกำหนด เช่น ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจกอล์ฟ และธุรกิจศูนย์อาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ระดับความรุนแรงและความกังวลต่อโรคระบาดดังกล่าวได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จึงทำให้ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ท่องเที่ยวเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

ส่วนฐานะการเงินของกลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เมื่อเทียบกับ ปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ มีสินทรัพย์รวม 54,350 ล้านบาท หนี้สินรวม 32,537 ล้านบาท โดยหนี้สินรวมดังกล่าวประกอบด้วย หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 16,578 ล้านบาท และหนี้สินที่ไม่มี ภาระดอกเบี้ย 15,959 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 21,813 ล้านบาท

กลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค ทั้ง 8 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งได้แก่ กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจการประมูล และศูนย์สนับสนุนองค์กร ได้มีการปรับกลยุทธ์ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่มีความท้าทาย พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่จากพฤติกรรมผู้บริโภคและสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่

ธุรกิจศูนย์การค้า โดยศูนย์การค้าในกลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค รวมทั้งธุรกิจกลุ่ม บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (SPW) (ในฐานะบริษัทร่วม) ได้มีการปรับตัวขยายฐานรายได้และกลุ่มลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้มีการปรับปรุงพื้นที่เช่าและ พื้นที่ส่วนกลางให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยมีการปรับโฉมในหลายมิติและเพิ่มความหลากหลายของร้านค้าและสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น ประกอบกับมาตรการเปิดประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการที่เป็นชาวต่างชาติกลับมาใช้บริการมากขึ้น

และมีการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจการบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้มีความทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ และสร้างฐานลูกค้าผ่านระบบ MBK Plus Application เพื่อสอดรับกับความต้องการและความพึงพอใจ ของลูกค้าที่หลากหลาย

ทั้งนี้ในส่วนศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค ได้มีการต่อสัญญาเช่าที่ดินต่อไปอีก 20 ปี (1 สิงหาคม 2566 - 31 กรกฎาคม 2586) ซึ่งปัจจุบันทั้งศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค และ อาคารพาราไดซ์ เพลส อยู่ระหว่างวางแผนคัดสรรผู้เช่าร้านค้าให้มีความหลากหลายเหมาะสมอย่างมีเอกลักษณ์ แตกต่างจากศูนย์การค้าคู่แข่งในโซนที่ตั้ง เพื่อตอบสนองลูกค้าทุกกลุ่ม เช่น ศูนย์กลาง การให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งรักษา บำบัด ส่งเสริม และป้องกัน แบบครบวงจร ภายใต้ คอนเซ็ปต์ “The Philosophy of Living"

ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ตามที่ภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศ และมีมาตรการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจโรงแรมมีผลประกอบการดีขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส โรงแรม ดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท และโรงแรมลยานะ รีสอร์ท แอนด์ สปา ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นนักท่องเที่ยว ต่างชาติ มากถึง 80%

ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2565 โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส และโรงแรม ทินิดี โฮเต็ล บางกอก กอล์ฟ คลับ มีการเปิดให้บริการแบบ Hospitel สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง (ระดับสีเขียว) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐและโรงพยาบาล ซึ่งเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจโรงแรม ในช่วงวิกฤต

ธุรกิจกอล์ฟ จากสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ธุรกิจกอล์ฟมีผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้แก่ สนามกอล์ฟ ล็อค ปาล์ม กอล์ฟ คอร์ส และ สนามกอล์ฟ เรด เมาเทน กอล์ฟ คอร์ส เนื่องจาก กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยสนามกอล์ฟที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้แก่ สนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ และสนามกอล์ฟ บางกอก กอล์ฟ คลับ มีผลการดำเนินการดีขึ้นสม่ำาเสมอ โดยได้รับ เกียรติให้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกอล์ฟอาชีพ โดยได้ผนึกกำลังกับ All Thailand Golf Tour เพื่อจัดการแข่งขัน Thailand Open 2022 และ Singha Bangkok Open 2022

ทั้งนี้ ธุรกิจการเงินในส่วนธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด (TLS) นั้น ด้วยสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับในเดือนตุลาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีประกาศมาตรการควบคุมเพดานดอกเบี้ย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2566 ส่งผลให้ลูกค้าชะลอการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ในปี 2565 TLS มีผลกำไรสุทธิลดลงจาก ปี 2564 ร้อยละ 39 อย่างไรก็ตาม TLS มีแผนพัฒนาสินเชื่อในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อขยายธุรกิจ และ พัฒนาด้านระบบเทคโนโลยีและการบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

กลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค ยังคงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน โดยคณะกรรมการบริษัท ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการบริหารจัดการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นภายใน องค์กรมาโดยตลอด เพราะเชื่อมั่นว่าจะเป็นรากฐานที่สำคัญ รวมทั้งมีความพร้อมรับกับการ เปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ไม่หยุดนิ่ง โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ ในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงใหม่ๆ ซึ่งนอกจากการเติบโตทางธุรกิจแล้ว กลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค ยังคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียและผลกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจ โดยบริษัทตระหนักและให้ความสำคัญ โดยการนำความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของ บริษัท มาสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรและสังคมอย่างมีจิตสำนึกไปพร้อมกัน ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การลดการปล่อยของเสีย การลดการใช้ทรัพยากร การประหยัดพลังงาน รวมทั้ง การใช้พลังงานทางเลือกทดแทน เพื่อช่วยลดและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อความยั่งยืนใน ทุกมิติ โดยมีรายละเอียด เปิดเผยในแบบ 56-1 One Report ฉบับนี้แล้ว

ในนามของคณะกรรมการบริษัท ขอขอบคุณ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ตลอดจนผู้บริหารและพนักงาน ที่ให้ความไว้วางใจ และมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ กลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค ด้วยดีมาตลอด ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค เชื่อมั่นว่าความ มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยปรับตัวและเตรียมแผนรองรับได้ทันท่วงที รวมทั้งสร้างโอกาสจากการ เปลี่ยนแปลงที่ท้าทายนั้น ทำให้องค์กรมีการเติบโตสู่เป้าหมายอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยยึดมั่น ในการดำเนินธุรกิจอยู่บนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคมไทย

 

นายบันเทิง ตันติวิท
ประธานกรรมการบริษัท

นายศุภเดช พูนพิพัฒน์
ประธานกรรมการบริหาร

นายวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ